‘อุทกภัย’ หรือ ‘น้ำท่วม’ เป็นภัยชนิดหนึ่งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ โดยแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ (1) น้ำป่าหลาก เกิดจากฝนตกหนักบนภูเขา ต้นน้ำลำธารและไหลบ่าลงที่ราบอย่างรวดเร็วและรุนแรงตามกระแสน้ำ (2) น้ำท่วมขัง เกิดจากน้ำล้นตลิ่ง ท่วมแช่ขัง มีระดับสูงจากปกติ และ (3) คลื่นซัดฝั่ง เกิดจากพายุลมแรงซัดฝั่ง ทำให้น้ำท่วมบริเวณชายฝั่งทะเล และซัดเข้าฝั่งทำลายทรัพย์สินและชีวิตได้ ซึ่งระดับความรุนแรงและผลกระทบของภัยน้ำท่วมแต่ละแบบ แต่ละครั้ง ก็จะแตกต่างกันออกไป
สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย พบปัญหาสภาพน้ำท่วมเกิดขึ้นในทุกภาคและทุกๆ ปี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยส่วนมากพื้นที่ที่น้ำท่วมมักเป็นบริเวณริมแม่น้ำสายหลักๆ และเป็นแหล่งชุมชน จนขยายวงกว้างมากขึ้นเข้าสู่พื้นที่ของเกษตรกรและบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหาย อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย เมื่อปี 2554 ซึ่งถือเป็นมหาอุทกภัยที่รุนแรงและได้ส่งผลกระทบหนักที่สุดตั้งแต่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับหลายล้านครัวเรือน ความเสียหายอยู่ที่ 156,700 ล้านบาท และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากถึง 2.31 แสนล้านบาท ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมล่าสุด เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา แม้จะไม่หนักหรือรุนแรงเท่ากับปี 2554 แต่ก็พบว่า มีน้ำมากที่สุดในรอบ 10 ปี ก่อให้เกิดความเดือนร้อนและเสียหายอย่างมากเช่นเดียวกัน
หลังเกิดปัญหาน้ำท่วมทุกครั้ง เรามักเห็นภาพความเสียหายปรากฏขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นอาคาร บ้านเรือน สิ่งก่อสร้าง พาหนะ พื้นที่การเกษตร พืชผล ไร่นา โรคระบาด คน สัตว์ สิ่งของต่างๆ ลามทุ่งไปถึงระบบคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค ระบบเศรษฐกิจ ฯลฯ
เมื่อปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยเกิดขึ้นทุกปีจนนับครั้งไม่ถ้วน หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ต่างพยายามหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเราก็ควรมีการเตรียมตัวเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมดังนี้
- การติดตามข้อมูลข่าวสาร พยากรณ์ หรือประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้จะได้รับทราบล่วงหน้าและเตรียมป้องกันอย่างทันท่วงที
- การออกแบบอาคาร บ้านเรือน สิ่งก่อสร้างต่างๆ หากพื้นที่ที่อาศัยอยู่เป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วม ควรออกแบบอาคารบ้านเรือนให้มีความสูงเหนือระดับที่น้ำเคยท่วมแล้ว
- การเคลื่อนย้ายวัสดุสิ่งของต่างๆ ที่จำเป็นและสำคัญ ให้ไปอยู่ในระดับที่สูงและปลอดภัยจากน้ำท่วม เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
- การใช้ถุงทรายมาทำเขื่อน เพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า ผนังกั้นน้ำ โดยสามารถใช้แทนกระสอบทรายในการป้องกันน้ำท่วมได้ดีกว่า
ในความเป็นจริง แม้จะไม่สามารถหยุดปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างน้ำท่วมได้ แต่เราก็สามารถลดปัจจัยความเสี่ยงและเรียนรู้วิธีเตรียมตัวรับมือกับปัญหาน้ำท่วมได้ด้วยวิธีเบื้องต้น น้ำท่วม…‘อยู่ได้’
ภาพโดย Hans จาก Pixabay
ภาพโดย Canislupus จาก Pixabay