‘วิกฤตขยะ’ นับเป็นปัญหาของมวลมนุษยชาติที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน (GLOBAL WARMING) อย่างเลี่ยงไม่ได้ และกำลังเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ย้อนกลับมาสร้างผลกระทบรุนแรงต่อมนุษย์ด้วยฝีมือมนุษย์เอง เพราะปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นและการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการเทกองในบ่อ การเผา หรือฝังกลบ ล้วนส่งผลโดยตรงต่อระบบนิเวศที่จะสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือก๊าซมีเทน (CH4) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกนำไปสู่การสร้างมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศและเป็นตัวการสำคัญให้เกิดความไม่สมดุลและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนำไปสู่สภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น ปัญหาแหล่งสะสมของเชื้อโรค ปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษ ปัญหาการรั่วไหลของขยะออกสู่ทะเล ทำให้มีไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารและตกค้างในสัตว์น้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สุขภาพและสาธารณสุขตามมาในท้ายที่สุด
ประเทศไทยได้ดำเนินงานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยบูรณาการเข้าสู่นโยบายและแผนระดับชาติ ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) อนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรับผิดชอบร่วมกันต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยมีแนวทางดำเนินการ 3 เรื่องหลัก คือ (1) การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และ (3) การสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ขณะที่ด้านการจัดการแก้ไขปัญหาขยะ ประเทศไทยก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2565 จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด 25.70 ล้านตัน โดยในปริมาณนี้ มีขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดถูกต้อง 9.80 ล้านตัน (คิดเป็น 38.1%), ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ 8.80 ล้านตัน (คิดเป็น 34.2%), ขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้อง 7.10 ล้านตัน (คิดเป็น 27.6%) และยังมีปริมาณขยะมูลฝอยตกค้าง 9.91 ล้านตัน โดยประเทศไทยได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ซึ่งมีการดำเนินมาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค และมาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค และมีเป้าหมายสูงสุดคือ การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570
หากไทยเราสามารถดำเนินการตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติกและแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ให้บรรลุได้ตามเป้าหมาย จะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี และช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี ซึ่งในการดำเนินงานให้บรรลุหมายนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาขยะที่ต้นเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เช่น การดำเนินการตามหลักการ 3R (Reduce การลดใช้, Reuse การใช้ซ้ำ, Recycle การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่) การเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งไปสู่การจัดการขยะอย่างถูกต้อง เป็นต้น
และความท้าทายอีกขั้นของการจัดการปัญหาขยะอย่างถูกต้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงานไฟฟ้า 100% มาใช้ช่วยจัดการปัญหาขยะได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพ เช่น การใช้นวัตกรรม Tenax Sweeper ที่สร้างสรรค์เทคโนโลยีการทำความสะอาด บนพื้นฐานของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างการดำเนินงานจัดการปัญหาขยะให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ภาพโดย Marcin จาก Pixabay
ภาพโดย Dinh Khoi Nguyen จาก Pixabay